ประวัติความเป็นมา

กองกำกับการ 7 กองบังคับการฝึกพิเศษ ฯ  ค่ายศรียานนท์ จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2529 มีผลบังคับใช้แต่วันที่ 12 ธันวาคม 2529   มีที่ตั้งอยู่ที่บ้านอ่างศิลา ตำบลหนองหญ้าปล้อง อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี โดยระหว่างดำเนินการก่อตั้งหน่วย ให้กองกำกับการ 7 กองบังคับการฝึกพิเศษ ฯ มี ที่ตั้งชั่วคราวอยู่ที่ อาคารกองร้อยที่ 4 กองกำกับการ 1 กองบังคับการฝึกพิเศษ ฯ ต่อมา กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน มีคำสั่งให้ กองกำกับการ 7 กองบังคับการฝึกพิเศษ รับผิดชอบดูแลที่ดินราชพัสดุของกรมตำรวจ ที่ตำบลบางเก่า อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
      17 มีนาคม 2530 เริ่มก่อสร้างกองร้อยฝึกชั่วคราว จำนวน 3 หลัง และดำเนินการฝึกข้าราชการตำรวจตามที่ได้รับมอบหมายตั้งแต่ มีนาคม 2530 เป็นต้นมา
      20 เมษายน 2531 ย้ายที่ทำการจากที่ทำการชั่วคราว มาสู่ที่ตั้งถาวรแห่งใหม่เคลื่อนย้ายเสร็จในวันที่ 27 เมษายน 2531 เปิดทำการในที่ตั้งถาวรที่ ค่ายศรียานนท์เลขที่ 39 หมู่ 3 ตำบลบางเก่า อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรีตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2531 เป็นต้นมา
      1 กุมภาพันธ์ 2534 ฯพณฯ พล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (สมัยนั้น) ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดป้ายค่ายศรียานนท์ พร้อมกับทำพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างอนุสาวรีย์ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ กำหนดวันที่ 2 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนาค่ายศรียานนท์ ซึ่งเป็นวันที่ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ขึ้นดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจปี 2494 
       เนื่องจากสิทธิ์การครอบครองพื้นที่ด้านหน้าอาคารกองกำกับการเป็นของเอกชนภายหลังจากที่มีการก่อสร้างอาคารสถานที่ รวมอนุสาวรีย์ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ทำให้ไม่เกิดความสง่างามและเหมาะสม หน่วยจึงได้ทำพิธีย้ายอนุสาวรีย์ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ในวันที่ 21 มิถุนายน 2556 ซึ่งได้รับอนุญาตจากกองบังคับการฝึกพิเศษ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน  โดย พล.ต.ต.วันชาติ  คำเครือคง  ผบก.กฝ.บช.ตชด.(ในขณะนั้น) ให้เกียรติเป็นประธาน
       ปัจจุบันมีเนื้อที่ 232 ไร่ 2 งาน 64 ตารางวา พื้นที่แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1ได้แก่พื้นที่ ฝ่ายบังคับบัญชาและอำนวยการได้แก่ อาคารกองกำกับการ และส่วนสนับสนุน(กองรักษาการณ์ .สื่อสาร ,พยาบาล.ขนส่ง )จำนวน  21 ไร่  2 งาน ส่วนที่ 2 ได้แก่ พื้นที่ ฝ่ายปฏิบัติการด้านการฝึกและสนับสนุนการฝึก ได้แก่ กองร้อยฝึกอบรม อาคารหอประชุม และพื้นที่สำหรับสนับสนุนการฝึก ได้แก่ลานการฝึก อาคารสูทกรรม อาคารคลังพัสดุ ห้องสมุด สถานีฝึกการทดสอบด้านจิตใจ หอสูง อาคารฝึกเยาวชน รวมถึงอาคารบ้านพักข้าราชการตำรวจและบ้านพักรับรอง จำนวน 211 ไร่ –64 ตารางวา
       มีอาณาเขตติดต่อ  ดังนี้
– ทิศเหนือ ติดต่อ ที่ดินของกองอาสารักษาดินแดน กรมการปกครอง
– ทิศใต้ ติดต่อ หมู่บ้านปากคลอง และหมู่บ้านบ้านท่า ตำบลบางเก่า อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
– ทิศตะวันออก ติดต่อ ที่ดินสาธารณประโยชน์
– ทิศตะวันตก ติดต่อ ถนนคันกั้นน้ำเค็มสายชะอำ – หาดเจ้าสำราญ
       ปัจจุบันใช้โครงสร้างการจัดหน่วยตามพระราชกฤษฎีการแบ่งส่วนราชการของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ   พ.ศ. 2552 และระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการกำหนดหน้าที่ของส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2552 ซึ่งมีหน้าที่และความรับผิดชอบเกี่ยวกับการฝึกอบรม ข้าราชการตำรวจในสังกัดของกองบัญชาการ ตำรวจหน่วยงานอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย ประชาชนและเยาวชนตามแผนและนโยบายของกองบังคับการ เป็นศูนย์บริการทางวิชาการในพื้นที่ ให้บริการฝึกอบรมอื่นเพื่อประโยชน์ทางราชการ ปฏิบัติงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริตามที่ได้รับมอบหมาย เป็นกองหนุนให้กับกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค ปกครองบังคับบัญชาหน่วยงานในสังกัด โดยปฏิบัติหน้าที่ ดังนี้
1)   งานธุรการ งานสารบรรณ การบริหารงานบุคคล งานสวัสดิการ งานกฎหมาย งานคดีและวินัย และงานอำนวยการด้านการป้องกันอุบัติภัย ของกองกำกับการ
2)   การจัดการฝึกอบรมตามแผนการฝึกอบรม สนับสนุนครูฝึก วิทยากร ผู้เชี่ยวชาญและผู้ชำนาญการในการฝึกอบรมและการปฏิบัติ ให้บริการทางวิชาการและจัดทำทำเนียบครูฝึก วิทยากร และผู้เชี่ยวชาญ งานประกันคุณภาพการศึกษา ปฏิบัติงานด้านการข่าว งานกิจการพลเรือน
3)   การจัดแผนการฝึกอบรม การตรวจสอบ กำกับดูแลการปฏิบัติตามแผนการฝึกอบรม กำหนดมาตรการแนวทางในการรักษาความปลอดภัย และงานงบประมาณ
4)   งานการเงินและส่งกำลังบำรุง กำหนดความต้องการพัสดุและสิ่งอุปกรณ์ จัดหา เก็บรักษา แจกจ่าย จำหน่าย ซ่อมบำรุง งานโยธาธิการ งานสรรพาวุธ ควบคุมทะเบียนพัสดุและสิ่งอุปกรณ์
5)   กองร้อยที่ 1 มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการสื่อสาร งานขนส่ง การบริการสายการแพทย์ งานการรักษาความปลอดภัย และสูทกรรม
6)   กองร้อย 2-5 มีหน้าที่ปกครองบังคับบัญชา ควบคุม และกำกับดูแลการปฏิบัติของผู้เข้ารับการฝึกอบรม ควบคุมการปฏิบัติของครูฝึก ช่วยเหลือ อำนวยความสะดวกแก่วิทยากรและดำเนินการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การฝึกอบรมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
7)   งานฝึกและเก็บกู้วัตถุระเบิด มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการฝึกอบรมและปฏิบัติการด้านการค้นหา พิสูจน์ทราบ เก็บกู้ ทำลายวัตถุระเบิด ตรวจสถานที่เกิดเหตุระเบิด ทำให้ปลอดภัย ซึ่งวัตถุระเบิดในสถานที่สงสัยว่าจะมีหรือได้รับแจ้ง งานป้องกันการก่อวินาศกรรม งานต่อต้านการก่อการร้าย งานตรวจสอบสถานที่เพื่อถวายความปลอดภัย และรักษาความปลอดภัยสถานที่และบุคคลสำคัญ ดำเนินการ ด้านวิชาการ งานนวัตกรรม งานสร้างสรรค์เกี่ยวกับงานเก็บกู้วัตถุระเบิด จัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาผลการปฏิบัติงานเฉพาะกรณี แก้ไข ปรับปรุง เผยแพร่ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชน เพื่อระวังป้องกันอันตรายจากวัตถุระเบิด รวมทั้งการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานอื่น และสนับสนุนภารกิจต่าง ๆ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
8)   งานอื่น ๆ ที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย